เมนูวันหยุดนี้ไม่ต้องเร่งรีบเพราะได้ทำการหมักหมูไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ตอนเช้าตื่นไปตลาดหาซื้อผักเคียงนิดหน่อย ก็กลับมาทำต่อได้เลย วันนี้ขอเสนอเมนูเรียบง่ายคือ "ข้าวหมูอบกระเทียมพริกไทยดำ" แบบฉ่ำซอสสุดๆ มาดูส่วนผสมกันเลย
ส่วนผสม (สำหรับหมักหมู)
1. หมูสันคอ 400 กรัม
2. ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ หรือเพิ่มลดแล้วแต่ชอบ
3. ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
4. กระเทียมไทย 10 - 15 กลีบ
5. พริกไทยดำ 10 - 15 เม็ด หรือแล้วแต่ชอบ
6. รากผักชี 1 ราก
7. แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ
8. Baking Soda 1/2 ช้อนโต๊ะ
9. น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ
10. เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
1. ล้างหมูให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นใหญ่ หนาประมาณ 1.5 - 2 ซม. พักให้สะเด็ดน้ำ
2. ตำกระเทียม รากผักชี พริกไทยดำ รวมกันให้ละเอียด
3. เอาทุกอย่างใส่ลงอ่างผสม เอามือขย้ำๆ ให้ทุกอย่างดูเข้ากันดี แพ็คใส่กล่องแช่เย็นไว้ข้ามคืน
ส่วนผสม (สำหรับการประกอบอาหาร)
1. หมูสันคอที่หมักเรียบร้อยแล้ว
2. กระเทียม 10 กลีบ ทุบพอแหลก
3. พริกไทยดำป่น แล้วแต่ชอบ
4. ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ หรือแล้วแต่ชอบ
5. ซอสปรุงรสฝาเขียว 3 ช้อนโต๊ะ หรือแล้วแต่ชอบ
6. น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ
7. น้ำต้มสุกหรือน้ำซุป 2 - 3 ถ้วย (หรือใส่ลงไปให้พอท่วมชิ้นหมู)
วิธีทำ
1. ตั้งกระทะไฟกลาง ใส่น้ำมัน รอให้ร้อน
2. โยนกระเทียมลงไป เจียวให้หอม
3. โยนหมูตามลงไป คลุกเคล้าสักเล็กน้อย ตามด้วยซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส คลุกๆๆ
4. โปรยพริกไทยดำตามลงไป
5. เมื่อกลิ่นเริ่มมาก็ใส่น้ำต้มสุกลงไป ปิดฝากระทะรอให้น้ำค่อยๆ งวด หมั่นดู พลิกชิ้นหมูบ้าง (เพราะเดี๋ยวมันจะไหม้ซะก่อน จะหาว่าไม่เตือน55)
6. เมื่อน้ำเหลือเกือบๆ จะติดกระทะก็เป็นพอได้แล้ว ตอนนี้ที่ชิ้นหมูเราก็จะมีความฉ่ำบังเกิดให้เห็นแล้ว
7. จัดจานได้เลย (เห็นแล้วหิวทันที)
หมดดิไม่เหลือ 555 เนื้อหมูฉ่ำซอสเอามากๆ แล้วหาผักเคียงกินกันเยอะๆ นะคร้าบบบบบ
ปล. ถ้าไม่ต้องการกินกับข้าวก็ลองเป็นไข่ดาวน้ำดูบ้างเผื่อจะชอบกันน้าาาาาาา
เคยมีคนบอกว่า “สุขภาพดี ส่วนหนึ่งมาจากการออกกำลังกาย”
การออกกำลังกายที่สามารถทำได้ง่ายที่คนส่วนใหญ่นิยมกัน คือ การวิ่งเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีความแตกต่างกับการวิ่งเพื่อแข่งขัน โดยการวิ่งเพื่อสุขภาพ (จ๊อกกิ้ง) เป็นการวิ่งเหยาะๆ ด้วยความเร็วระหว่างการเดินกับการวิ่งเร็ว การวิ่งที่ได้ผลดี ต้องเป็นธรรมชาติ ไม่เกร็ง โดยมีข้อแนะนำเพื่อนำไปปรับใช้ในการวิ่งเพื่อสุขภาพมาฝาก
1. เทคนิคในการวิ่ง
1. การลงเท้าที่ถูกวิธีเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อป้องกันการบาดเจ็บสำหรับนักวิ่งเพื่อสุขภาพโดยส้นเท้าจะสัมผัสพื้นก่อนทั้งฝ่าเท้าจึงจะตามลงมา และเมื่อปลายเท้าหมุนลงมาแตะพื้น ก็เป็นจังหวะที่ส้นเท้าเปิดขึ้น ปลายเท้าก็จะคล้ายตะกุยดิน ถีบตัวเหมือนสปริงดีดตัวขึ้นบนและเคลื่อนไปข้างหน้า จุดที่เท้าสัมผัสพื้นควรจะตรงกับหัวเข่างอเข่านิดๆ เท้าควรจะสัมผัสพื้นหลังจากที่ได้เหยียดออกไปข้างหน้า ส่วนอีกเท้าเหวี่ยงไปข้างหลัง ควรจะลงแตะพื้นเบา นักวิ่งส่วนใหญ่จะลงพื้นด้วยริมนอกของเท้า และหมุนเข้าด้านใน ซึ่งการหมุนเข้าด้านใน ช่วยเป็นเกาะกันกระแทก การลงเท้าและการก้าวเท้าจะช่วยให้วิ่งเร็วขึ้น ส่วนจะก้าวยาวหรือสั้นนั้นขึ้นอยู่กับนักวิ่งว่าต้องการความเร็วแค่ไหน โดยนักวิ่งเร็วจะลงพื้นด้วยปลายเท้าก่อน ส่วนนักวิ่งระยะกลางจะลงพื้นด้วยอุ้งเท้าก่อน และสำหรับนักวิ่งระยะไกลและนักวิ่งเพื่อสุขภาพจะลงด้วยส้นเท้าก่อน
2 . ท่าทางในการวิ่ง ควรวิ่งให้หลังตรงและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ศีรษะตรงตามองตรงไปข้างหน้าให้ส่วนต่างๆ จากศีรษะลงมาหัวไหล่และสะโพกจนถึงพื้นเป็นเส้นตรง ลำตัวไม่โน้มไปด้านหน้าหรือเอนไปด้านหลัง
3. การเคลื่อนไหวของแขนจะช่วยเป็นจังหวะและการทรงตัวในการวิ่ง ขณะวิ่งแขนแกว่งไปมาเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกาไปตามแนวหน้าหลัง พยายามอย่าให้ข้อศอกงอเข้ามาแคบกว่า 90 องศา หัวแม่โป้งวางบนนิ้วชี้สบายๆ กำนิ้วหลวมๆ ข้อมือไม่เกร็ง บางครั้งอาจเหยียดแขนตรงลงมา หรือเขย่าแขนเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวบ้าง หลังจากยกแขนไว้นานๆ
4. การหายใจ ควรหายใจเข้าทางจมูกและปล่อยลมหายใจออกพร้อมกันทั้งทางจมูกและปาก อย่างไรก็ดีให้ยึดกฎง่าย ๆ คือ การหายใจควรเป็นไปตามสบายและพยายามหายใจด้วยท้อง การหายใจด้วยท้องคือ สูดหายใจเข้าไปในปอดจนท้องขยายและบังคับปล่อยลมให้ออกมาด้วยการแขม่วท้อง การหายใจไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดการจุกเสียดขณะวิ่งได้
2. ความหนัก ความนาน และความบ่อยของการวิ่ง
ความหนักหรือความเร็ว ควรใช้ความเร็วที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยจนต้องหายใจแรง แต่ไม่ถึงกับต้องหายใจทางปากหรือมีอาการหอบ เมื่อวิ่งไปแล้ว 4 – 5 นาที ควรมีเหงื่อออก ยกเว้นในอากาศเย็นจัดอาจยังไม่มี แต่สามารถวิ่งต่อไปได้เกิน10 นาที อาจใช้ความเร็วความคงที่ตลอดระยะทางหรือจะวิ่งเร็วสลับช้าบ้างก็ได้ แต่การวิ่งติดต่อกันโดยไม่หยุดถึง10 นาที เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักสำหรับผู้ที่ไม่ได้เล่นกีฬาหรือวิ่งเป็นประจำอยู่ก่อน ฉะนั้นผู้ที่เริ่มวิ่งทุกคนจึงไม่ควรตั้งความหวังสำหรับการวิ่งครั้งแรกไว้ว่า จะวิ่งให้ได้ตลอดมากกว่า10 นาที โดยไม่สลับด้วยการเดิน
ความจริงแล้วการวิ่งสลับกับการเดินยาวๆ โดยไม่หยุดวิ่งในวันแรกๆ เป็นสิ่งถูกต้อง เพราะเป็นการผ่อนคลายร่างกายที่ไม่ทำให้เกิดความเครียดมากจนเกินไป แต่ในวันต่อ ๆ ไปควรเพิ่มระยะเวลาของการวิ่งให้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการเดินให้น้อยลง จนในที่สุดสามารถวิ่งเหยาะได้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า10 นาที โดยไม่ต้องสลับด้วยการเดิน และทำเช่นนี้อย่างน้อย 3 วัน ต่อสัปดาห์ จึงถือได้ว่าเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ
3. การอบอุ่นร่างกายก่อนวิ่งและการผ่อนคลายร่างกายหลังวิ่ง
ก่อนและหลังการวิ่งทุกครั้ง ควรอบอุ่นร่างกายและผ่อนคลายร่างกายประมาณ 4 – 5 นาที โดยวิ่งเหยาะๆ ด้วยความเร็วที่น้อยกว่าที่ใช้ในการวิ่งจริง พร้อมกับทำกายบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย
แต่บางครั้งร่างกายอ่อนแอ อาจอดนอน หรือเจ็บไข้ หรือวิ่งในขณะอากาศร้อนจัด และไม่ได้ทดแทนน้ำและเกลือแร่พอเพียง อาจเกิดอาการที่ส่อ “สัญญาณเตือนอันตราย” ขึ้นขณะวิ่งได้ เช่น อาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้หรือหน้ามืดเป็นลม รู้สึกคล้ายหายใจไม่ทันหรือหายใจไม่ออก ใจสั่น แน่น เจ็บตื้อบริเวณหน้าอก หรือลมออกหู หูตึงกว่าปกติ มีบางรายอาจควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ซึ่งถ้าเกิดมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ให้ทำตามลำดับดังนี้
1. ขณะวิ่ง ให้ชะลอความเร็วลง หากอาการหายไปอย่างรวดเร็ว อาจวิ่งต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วยความเร็วที่ชะลอไว้แล้วนั้น
2. แต่หากชะลอความเร็วแล้ว ยังมีอาการอยู่อีก ให้เปลี่ยนเป็นเดิน
3. ถ้าเดินแล้วยังมีอาการอยู่ ต้องหยุดนั่งหรือนอนราบจนว่าอาการจะหายไป
4. ซึ่งในวันต่อไป จำเป็นต้องลดความเร็วและระยะทางลง
5. ถ้าอาการที่เป็นสัญญาณเตือนอันตรายไม่หายไปแม้พักแล้วเป็นเวลานาน ต้องรีบปรึกษาแพทย์
สำหรับประโยชน์ของการวิ่ง มีมากมายตั้งแต่...
1. ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจทำงานดีขึ้น ลดระดับไขมันในเลือด เพื่อป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และช่วยให้ไม่เป็นลมหน้ามืดง่าย
2. ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ลดภาวะกระดูกพรุน
3. ช่วยปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น
4. ช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกาย
5. กระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟินขึ้น ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และทำให้รู้สึกสุขสบาย
และสุดท้าย จะดีมากขึ้น ถ้าการวิ่งใช้เสื้อและกางเกงที่ทำจากผ้าฝ้าย ไม่รัดแน่นหรือหลวมจนเกินไป รวมทั้งรองเท้าหุ้มส้นที่พอดีกับขนาดและรูปเท้า ตลอดจนพื้นรองเท้าควรหนาและนุ่ม หากออกกำลังกายได้อย่างที่ว่า สุขภาพดีก็อยู่แค่เอื้อม
ปล. ดื่มน้ำชดเชยน้ำที่สูญเสียจากการออกกำลังกาย
ข้อมูล : ศ.นพ.ยุทธนา อุดมพร
หน่วยสร้างเสริมสุขภาพกีฬาและนันทนาการ
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://www.si.mahidol.ac.th/anesth/dept_article_detail.asp?a_id=731
ภาพ : pinterest.com